ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีหนังเล็กๆ เรื่องหนึ่งที่มีชื่อว่า The Intern เข้าฉาย หากใครได้เห็นตัวอย่างก็จะพอรู้ว่ามันคือเรื่องราวเกี่ยวกับ บริษัท Start-up แห่งหนึ่งที่มีชื่อว่า About the Fit ซึ่งบริษัทแห่งนี้ก่อตั้งโดย จูลส์ (Anne Hathaway) สาวรุ่นใหม่มากความสามารถที่เริ่มต้นก่อตั้งบริษัทด้วยตัวคนเดียว ก่อนที่จะมีพนักงานถึง 250 คน พร้อมทั้งยอดขายที่น่าพึงพอใจภายในเวลา 18 เดือนเท่านั้น ซึ่งวันหนึ่งบริษัท About the Fit นี้ก็มีโครงการรับพนักงานอาวุโสเข้ามาฝึกงาน ทำให้ชายวัยเกษียณอย่าง เบน สนใจเข้ามาสมัครเพราะเบื่อชีวิตเรื่อยเปื่อยหลังเกษียณเต็มทีจนอยากที่จะหาประสบการณ์ใหม่ๆ ให้กับชีวิตเพิ่มเติม ซึ่งการเข้ามาของ เบน นั้น เปรียบเสมือนการนำวิธีการทำงานแบบ Old School รุ่นเก๋าเข้ามาผสานกับการทำงานแบบ Start-up รุ่นใหม่ โดยผลจะออกมายังไงนั้นก็ลองไปชมกันดูครับ แต่ตอนนี้เราลองมาดูกันดีกว่าว่าสุดท้ายแล้ว The Intern จะให้แง่คิดเกี่ยวกับการทำธุรกิจอะไรกับเราได้บ้าง

1.บรรยากาศในออฟฟิศมีผลต่อการทำงาน

การสร้างบรรยากาศในองค์กรนับเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้พนักงานรู้สึกผ่อนคลายในการทำงาน ซึ่งจะส่งผลต่อ productivity และคุณภาพของงานที่จะเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มความสุขให้กับพนักงานในองค์กรอีกด้วย ซึ่งทั้งนี้บรรยากาศในการทำงานอาจต้องดูจากวัฒนธรรมขององค์กรเป็นหลักก่อนที่จะนำมาปรับใช้ด้วย เพื่อให้แนวคิด ค่านิยม และแนวทางในการทำงานดำเนินไปในทางเดียวกันกับเป้าหมายขององค์กรได้อย่างราบรื่น อย่างในองค์กร About the Fit ของนางเอกในเรื่องก็เป็นธุรกิจขายเสื้อผ้าแฟชั่นออนไลน์ ทำให้เธอเลือกที่จะจัดวางรูปแบบผังองค์กรให้ออกมาในรูปแบบทันสมัย และให้พนักงานทุกคนนั้นได้แต่งชุดอะไรก็ได้เข้ามาทำงาน ซึ่งส่วนนี้อาจเป็นจุดเริ่มต้นของแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ไอเดียใหม่ๆ กับเสื้อผ้าแฟชั่นก็ได้

นอกจากวัฒนธรรมด้านการแต่งกายแล้ว หากสังเกตดีๆ จะเห็นว่าในองค์กรของนางเอกนั้น บรรยากาศจะเต็มไปด้วยความเป็นกันเอง โดยบริเวณกลางห้องจะมีกระดิ่งที่ใช้ในการประกาศข่าวดี หรือการชื่นชมพนักงานที่ทำความดี เพื่อให้ทุกคนได้รับรู้ทั่วกัน ซึ่งข่าวดีเหล่านี้ก็น่าจะเป็นกำลังใจสำคัญให้กับพนักงานหลายๆ คนที่ได้เห็นว่าสิ่งที่พวกเขาได้ลงมือทำไปแล้วนั้น เกิดผลต่อองค์กรให้ดีขึ้นในด้านใดบ้าง เท่านั้นยังไม่พอ About the Fit ยังมีการจ้างพนักงานนวดบำบัดเพื่อผ่อนคลายความเครียดจากการทำงานให้กับบรรดาพนักงานด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้ก็คือส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมในองค์กรที่น่าสนใจและน่านำมาปรับใช้ไม่น้อยเลย

2. Start-up ควรเป็นตัวของตัวเอง แต่ก็ต้องเปิดรับมุมมองคนนอกด้วย

การรักษาจุดยืนของตัวเองนับเป็นเรื่องสำคัญสำหรับ Start-Up เพราะจะทำให้เป้าหมายของเราแน่ชัด และดำเนินไปอย่างถูกทางตามที่ตั้งใจเอาไว้ จากเรื่องราวใน The Intern จะเห็นได้ว่าเป็นการตัดสินใจที่ยากมากของนางเอกที่จะเลือกเฟ้นหา CEO ให้เข้ามาบริหารงานแทนในขณะที่บริษัทกำลังเติบโตอย่างรวดเร็วจนเริ่มรับมือได้ยาก นั่นเป็นเพราะตัวเธอเองก็มั่นใจว่าไม่มีใครที่จะรู้จักกับองค์กรหรือใส่ใจกับทุกๆ อย่างได้เท่ากับตัวเธอเองอีกแล้ว เพราะเมื่อดูจากความใส่ใจในทุกๆ รายละเอียด ทั้งการที่ลงมานั่งเป็น Call-Center เพื่อรับฟังปัญหาและดำเนินการแก้ไขปัญหานั้นด้วยตัวเอง การที่ไปถึงโรงงานบรรจุสินค้าเพื่อฝึกพนักงานให้บรรจงสินค้าลงห่ออย่างเรียบร้อย ก็แสดงถึงความเอาใจใส่เป็นอย่างมาก

ซึ่งเมื่อพิจารณาถึงองค์ประกอบต่างๆ ข้างต้นแล้ว อาจกล่าวได้ว่าคงไม่มีใครรู้จัก About the Fit ได้ดีเท่าตัวนางเอกเองอีกแล้ว แต่ทั้งนี้ เราอาจต้องอาศัยมุมมองจากคนภายนอกเข้ามาช่วยบ้าง เพราะบางครั้งการที่รู้จักอะไรที่ดีเกินไปจนชินก็อาจจะมองข้ามข้อมูลหรือแผนงานต่างๆ ไปก็ได้ เหมือนอย่างที่นางเอกได้มอบหมายให้คนฝึกงานอย่าง เบน เข้ามาช่วยดูเรื่องเกี่ยวกับการลงโฆษณา เธอก็ได้รับคำแนะนำง่ายๆ เกี่ยวกับผลที่ได้รับจากแต่ละภูมิภาคการขายที่ต่างกันออกไป ที่เธอนั้นมองข้ามมาอยู่เสมอ ทั้งๆ ที่หากมีการแก้ไขในส่วนนี้จะเป็นการช่วยลดต้นทุน และเพิ่มยอดขายได้เป็นอย่างมาก

3. สังเกตว่าธุรกิจเรากำลังเติบโตเร็วเกินไปหรือไม่

แม้เป้าหมายของ Start-up ทั้งหลายอาจจดจ่ออยู่ที่ความสำเร็จของธุรกิจ แต่ในความเป็นจริงแล้วนั้น ความสำเร็จอาจเป็นเรื่องที่รับมือได้ยากหากยังไม่มีความพร้อมเพียงพอ เพราะทุกครั้งที่ธุรกิจมีการขยับขยายนั้น นั่นหมายความว่าสิ่งที่เรารับผิดชอบก็ต้องเพิ่มขึ้นตาม อย่างธุรกิจของนางเอกในเรื่องแม้ดำเนินการมาได้เพียง 18 เดือน แต่ก็มีบุคลากรที่เพิ่มขึ้นจากการทำเองคนเดียว จนบริษัทมีพนักงานถึง 250 คน ส่งผลให้การบริหารทั้งในด้านบุคลากรก็ย่อมเพิ่มขึ้นตาม นั่นหมายความว่าเธอเองจากที่ทำทุกอย่างเบ็ดเสร็จด้วยตัวเองคนเดียวในสเกลงานที่เล็กกว่า ก็ต้องเพิ่มพูนทักษะการบริหารและการกระจายงานในองค์กรให้กับบุคคลที่เหมาะสม เพื่อให้ระบบการทำงานในองค์กรนั้นสามารถดำเนินไปอย่างราบรื่น และแน่นอนว่าเมื่อธุรกิจมีการขยับขยายขึ้นอีกจนพนักงานเป็นหลักพันหรือหลักหมื่น หลักในการบริหารก็อาจต้องมีการเปลี่ยนแปลงตามกันไปด้วย

ซึ่งเรื่องบริหารพนักงานก็นับเป็นแค่ส่วนหนึ่งที่ต้องรับผิดชอบเพิ่มขึ้นเท่านั้น เพราะนี่ยังไม่รวมถึงยอดขายที่เพิ่มขึ้น การขยับขยายธุรกิจให้ออกไปกว้างไกลกว่าเดิม อีกทั้งยังต้องบริหารแต่ละช่องทางการขายต่างๆ ให้เป็นระบบอีกด้วย นอกจากนี้ก็ยังมีอีกหลายต่อหลายอย่างที่ต้องอาศัยทักษะการบริหารขั้นสูง ที่หากทุกอย่างมีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วเกินไป ก็อาจทำให้เราเองเป็นคนที่ปรับตัวไม่ทัน ทำให้การที่ธุรกิจเติบโตเร็วเกินไป อาจเป็นอะไรที่ยากเกินกว่าจะรับมือได้ด้วยตัวเองเพียงคนเดียว การเตรียมความพร้อมกับทุกสิ่งไว้ ทั้งการพัฒนาในด้านบุคลากรให้พร้อมกับความเปลี่ยนแปลงในอนาคตก็น่าจะช่วยให้องค์กรสามารถปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนที่ท้าทายยิ่งขึ้นไปในอนาคตได้อย่างมั่นคงมากยิ่งขึ้น

4. Work Life Balance ยังไงก็สำคัญ

การประสบความสำเร็จแค่เรื่องงานแต่สุดท้ายชีวิตกลับไม่มีความสุขเพราะให้น้ำหนักกับด้านชีวิตและการงานไม่เท่ากันก็คงเรียกว่า ชีวิตประสบความสำเร็จ ได้อย่างไม่เต็มปากนัก ชีวิตนางเอกในเรื่องก็เช่นเดียวกัน แม้ว่าเธอจะเป็น Start-Up หน้าใหม่ที่มีความสามารถนำพาบริษัทให้รุ่งเรืองมาโดยตลอด จากความขยัน มุ่งมั่น และใส่ใจในทุกๆ รายละเอียด แต่ทว่าอีกด้านเธอกลับล้มเหลวในด้านชีวิตส่วนตัวเนื่องจากให้เวลากับชีวิตส่วนนี้น้อยเกินไป จนมีปัญหาต่างๆ ตามมาในภายหลัง และไม่เพียงแค่ความสัมพันธ์กับผู้อื่นเท่านั้น แม้กระทั่งสุขภาพของตัวเธอเองก็น่าเป็นห่วง เพราะจากแต่ละฉากในภาพยนตร์นั้น เราแทบจะไม่เห็นเธอแตะอาหาร หรือเข้านอนได้เร็วเลยสักวัน  ซึ่งหากในอนาคตเธอยังคงใช้ชีวิตนี้ต่อไปเรื่อยๆ แน่นอนว่าทั้งปัญหาทั้งด้านความสัมพันธ์และด้านสุขภาพก็จะกลายมาเป็นปัญหาในชีวิตที่จะส่งผลต่อหน้าที่การงานที่ประสบความสำเร็จอยู่ได้เช่นกัน ดังนั้นการให้ความสำคัญกับทั้งการใช้ชีวิตและการทำงานจึงถือเป็นอีกคุณบัติของผู้ประกอบการทุกคนที่ควรมีอย่างเลี่ยงไม่ได้เลย

• • •

สำหรับผมแล้ว The Intern เป็นภาพยนตร์ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ และ Start-up อีกเรื่องที่อยากให้ทั้งผู้ประกอบการหน้าใหม่ และทั้งวัย Baby Boomer น่าจะได้ข้อคิดอะไรจากภาพยนตร์อยู่ไม่น้อย ทั้งรูปแบบการทำงานที่แตกต่างกันของทั้งสองวัย การปรับความเข้าใจจากมุมมองที่ต่างกันกันของทั้งสองรุ่น รวมทั้งภาพปัญหาต่างๆ ที่เหล่าบรรดา Start-up หน้าใหม่ล้วนต้องเผชิญ ก็นับได้ว่า The Intern เป็นภาพยนตร์ที่ได้อะไรมากกว่าความบันเทิงจนรู้สึกคุ้มค่าเกินค่าตั๋วจริงๆ ครับ

ขอบคุณที่มา : incquity.com

แชร์ให้เพื่อน